สจล. จับมือ ไทยไฟท์ เปิดสังเวียนหลักสูตร ป.โท ต่อยอดสื่อ ‘กีฬา’ สร้างสรรค์

สจล. ตั้ง “KMITL-Thai Fight Academy” ศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนการศึกษา ด้านกีฬาและสื่อบันเทิงในประเทศไทย

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ “ไทยไฟท์” เวที แข่งขันทัวร์นาเมนท์มวยไทยชื่อดังระดับโลก ผุดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) ครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทย ในการควบรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ากับภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์จริง รองรับการเติบโตของกีฬามวยไทยในเชิงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) โดยปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาไทย อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเป็น 2 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยมีแนวโน้มเติบโต แตะ 4.32 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจดังกล่าว ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 ของรัฐบาล พร้อมตั้ง KMITL Thai Fight Academy of Sports and Media Management เป็นศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนการศึกษา ด้านกีฬาและสื่อบันเทิงไทยให้เป็นเลิศ

 

.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ด้านการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง เข้าด้วยกัน มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการเสพสื่อและการเข้าถึงช่องทางต่างๆ ในการรับชม อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยหนึ่งในชนิดกีฬาที่ถูกนำมาผนวกเข้ากับธุรกิจสื่อและบันเทิง และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติ คือ “มวยไทย” ที่ทุกวันนี้มีการจัดแข่งขันและเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ในรูปแบบที่ให้อรรถรสมากกว่าแมทช์การแข่งขันทั่วไป ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยในเชิงสร้างสรรค์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้  สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและบริการสังคม จึงร่วมกับ บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด ผู้จัดเวทีแข่งขันมวยไทยระดับโลก พัฒนา หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้และความเข้าใจ ในการบริหารจัดการธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ทั้งสองเข้าด้วยกัน ให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการบริหารธุรกิจกีฬา และมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบ สามารถเลือกใช้สื่อและรูปแบบความบันเทิง เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดการกีฬาให้ประสบความสำเสร็จ

“หากศึกษามูลค่าการแข่งขันกีฬาแมทช์ดังระดับโลกจะพบว่า ทุกการแข่งขันล้วนมีการผนวกศาสตร์ด้านสื่อและบันเทิงเข้าด้วยกัน โดยผลการสำรวจมูลค่ารายการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่แพงที่สุดในปี 2016 (Most Valuable Sport Event Worldwide in 2016) โดย statista.com พบว่า การแข่งขัน “ซูเปอร์โบว์ล” (Super Bowl) มีมูลค่าสูงถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,790 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายการแข่งขันที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เมื่อหันกลับมามองโอกาสในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาไทย อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีโนวโน้มเติบโตเป็น 2 แสนล้านบาทในเร็วๆ นี้ ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยมีแนวโน้มเติบโต แตะ 4.32 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 ของรัฐบาล” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อำนวย แสงโนรี คณบดีคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นจากเป็นความร่วมมือ ระหว่าง สจล​. กับ ไทยไฟท์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทย ในการเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง ร่วมกับผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่เป็นผู้นำ ในด้านการจัดแข่งขันทัวร์นาเมนท์มวยไทยระดับโลกเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีศักยภาพด้านการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การค้นคว้าวิจัยและประยุกต์ใช้แนวทฤษฎีด้านการจัดการและบริหารธุรกิจทั่วไป ควบคู่ไปกับแนวทฤษฎีด้านการจัดการและบริหารธุรกิจกีฬา สื่อ และบันเทิง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านรูปแบบการจัดแผนการเรียนการสอนออกเป็น 39 หน่วยกิต แบ่งเป็น 1. หมวดวิชาปรับพื้นฐาน ได้แก่ หลักการบัญชี , หลักเศรษฐศาสตร์ 2. หมวดวิชาบังคับ ได้แก่ การจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง , การจัดการองค์การและทรัพยากรมนุษย์ , การเงินและการบัญชีบริหาร , กฎหมายกีฬาและจริยธรรม และ 3. หมวดวิชาเลือก ได้แก่ การจัดการนวัตกรรมกีฬา , กิจกรรมทางการตลาดและการผลิตสื่อกีฬา , การจัดการอัตลักษณ์ในธุรกิจกีฬา , การแพร่ภาพสื่อดิจิทัล เป็นต้น พร้อมกับหมวดวิชาวิทยานิพนธ์ และหมวดวิชาการค้นคว้าอิสระ โดยจะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในวันที่ 15 ก.ย. – 15 พ.ย นี้ จะเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2560 ช่วงกลางเดือน ธ.ค.

“ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา ระหว่าง สจล. และ ไทยไฟท์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบรวมองค์ความรู้ด้านวิชาการ เข้ากับภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์ในด้านกีฬา สื่อ และบันเทิง ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว ยังมีโอกาสได้สัมผัสรูปแบบการจัดการกีฬาสู่ระดับสากลด้วย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง KMITL Thai Fight Academy of Sports and Media Management ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาด้านกีฬาและสื่อบันเทิงไทยให้เป็นเลิศ เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากร ทั้งทางการกีฬาของไทยและนักธุรกิจนักสื่อสารที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดศักยภาพและความสำเร็จอย่างมีคุณภาพทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ”

 

ขณะที่ นายนพพร วาทิน  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งสถาบัน Thai Fight Academy มีเจตนารมณ์นำเอา การศึกษา , นวัตกรรม , วัฒนธรรม และกีฬา มาผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการผลิตบุคลากร เพื่อมาบริหารจัดการทางด้านกีฬาอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการผลิตบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์ขององค์กร ให้เป็นที่รู้จักและให้เป็นที่ยอมรับต่อวงการ ดังนั้น การสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่า ถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการศึกษา เพราะในยุคไทยแลนด์ 4.0 แบรนด์ที่มีคุณภาพย่อมพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ การที่ Thai Fight ประสบความสำเร็จสามารถสร้างแบนรด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนกลายเป็นแบรนด์ชาติ เพราะการบริหารจัดการด้านมาร์เก็ตติ้งและการจัดการด้านสื่ออย่างถูกวิธี ดังนั้น ผู้เข้ารับการศึกษาจะได้เรียนรู้แนวคิดในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง รู้จักการทำมาร์เก็ตติ้ง รู้จักการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในการหารายได้ และมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้เรียนรู้ควบคู่ไปด้วยกันกับหลักสูตรการบริหารการจัดการ ก็คือ ให้รู้จักและเข้าใจกับคำว่า “Sportsmanship” หรือ “น้ำใจนักกีฬา” เพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคมอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ สจล. และ ไทยไฟท์ ได้จัดงานเปิดตัวหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) ณ หอประชุมใหญ่ สจล. เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาการจัดการ หลักสูตรการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง โทร. 02-329-8000 ต่อ 6378 , 6379 ทางเว็บไซต์ที่ www.fam.kmitl.ac.th หรือส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โทร.  02-329-8111 ทางเว็บไซต์ที่ www.kmitl.ac.th