รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษ ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น’

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้การต้อนรับและนำชมห้องจัดแสดงภายในหมู่พระวิมานวังหน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปรับปรุงใหม่ จำนวน 4 ห้อง คือ พระนครพระที่นั่งอุตราภิมุข (จัดแสดงเรื่องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์) พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข (จัดแสดงเรื่องโลหศิลป์ : ประณีตศิลป์ในงานโลหกรรม) พระที่นั่งบูรพาภิมุข (จัดแสดงเรื่องศัสตราวุธ : ศาสตร์และศิลป์ในการสงคราม) และพระที่นั่งทักษิณา ภิมุข (จัดแสดงเรื่องนาฏดุริยางค์ : มหรสพและการละเล่นของหลวง)

 

นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำศิลปะญี่ปุ่นครบถ้วนทุกยุคสมัยมาจัดแสดงในประเทศไทย  ภายในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้คัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ชิ้นสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโจมน จนถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยเอโดะ ประกอบด้วยหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ประติมากรรม จิตรกรรม และประณีตศิลป์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอเรื่องการเริ่มต้นของศิลปะญี่ปุ่น ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ตระกูลขุนนาง และนักรบ นิกายเซนกับพิธีชงชา และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสมัยเอโดะ รวมจำนวน 106 รายการ (130 ชิ้น)

ที่สำคัญและหาดูได้ยากยิ่งคือ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติ 3 รายการ และมรดกวัฒนธรรมสำคัญ 25 รายการรวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มพูนสัมพันธภาพของทั้งสองประเทศให้มั่นคงยั่งยืน

ในการนี้ รมว.กก.ได้สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับผู้พิการ และบุคคลทั่วไป เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มให้สามารถเดินทางมาใช้บริการได้อย่างสะดวก

ทั้งนี้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น” (The History of Japanese Art: Life and Faith) ในโอกาสครบรอบ 130 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันนี้ ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2224 1402, 0 2224 1370