เที่ยวคุกเกาหลีใจกลางกรุงโซล ‘พิพิธภัณฑ์เรือนจำซอแดมุน’ (Seodaemun Prison History Hall)

พามาเที่ยวเกาหลีในอีกมุมมอง ได้อารมณ์เหมือนฉากในซีรีส์แนวสืบสวน กับการชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เรือนจำซอแดมุน (Seodaemun Prison History Museum) หรือเรียกสั้นๆว่า ‘คุกเกาหลี’ นั่นเอง ที่นี่คือคุกจริงที่ทางการญี่ปุ่นใช้ขังและทรมานนักโทษเกาหลีสมัยสงครามโลกครั้งที่1

ตั้งอยู่ในสวนอิสรภาพซอแดมุน (Seodaemun Independence Park) ถูกสร้างขึ้นในช่วงใกล้สิ้นสุดราชวงศ์โชซอน การเดินทางง่ายมาก สถานี Dongnimmun สายสีส้มทางออก 5 แล้วเดินตรงขึ้นเนินมาอีก ประมาณ 5 นาที  ก็เจอเลย อยู่ไม่ไกลจากอินซาดง ถนนช็อปปิ้งอีกสายที่สำคัญของเกาหลี

ค่าเข้าชมคนละ 3,000₩ เมื่อได้เข้าไปพ้นกำแพงสูง จะเห็นบรรยากาศภายในกว้างขวางมาก มีต้นไม้ปลูกเป็นแนว ยิ่งช่วงใบไม้เปลี่ยนสีจะยิ่งสวย บวกกับตึกสีอิฐหลายหลังตั้งกระจายกันภายในรั้ว ให้ความรู้สึกสวยงาม และเงียบสงบวังเวง ไปในเวลาเดียวกัน วันที่เราไปมีเด็กๆมาทัศนศึกษาด้วย

คุกแห่งนี้ถูกญี่ปุ่นใช้เป็นที่คุมขังและทรมานนักโทษเกาหลีหลายพันคน ที่พยายามปฏิวัติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องเกือบ 80 ปี (1908-1987) ถ้าคนเกาหลีได้ไปเที่ยวคงมีอารมณ์เกลียดชังชาวญี่ปุ่นมากๆเลยทีเดียว

ผ่านเข้าห้องโถงใหญ่มีรูปคนติดเต็มผนังนับพันๆภาพ เมื่อดูใกล้ๆก็คือรูปของชาวเกาหลีที่เคยถูกคุมจงขังที่นี่ นอกจากผู้ชายแล้ว ยังมีเด็ก ผู้หญิง คนแก่ มีการเปิดคลิปเสียงของนักโทษ เป็นอะไรที่ขนลุกและสะเทือนใจสุด แล้วบรรยากาศวังเวงมาก เราทนอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเดินออกไป เพราะเกิดความรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก

เดินต่อไปเจอห้องประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ บรรยากาศห้องมืดๆทึมๆ ใครขวัญอ่อนจะรู้สึกกลัวเลยทีเดียว มีภาพของนักโทษที่ต้องจบชีวิตที่นี่ คือแค่ห้องมืดอย่างเดียวก็น่ากลัวแล้ว นี่ยังมีคลิปเสียงมาบิ้วให้น่ากลัว×10ไปอีก

มีการจำลองวิธีทรมานนักโทษ เช่นห้อยหัวราดน้ำร้อน ตอกเล็บ อุปกรณ์ทำร้ายและใช้คุมขัง โซ่ตรวน ฯลฯ

อีกหนึ่งการทรมานคือตู้ห้องขังเดี่ยวซึ่งแคบและมืดมาก แล้วก็เปิดคลิปเสียงนักโทษกรีดร้องตอนทรมาน มีการจำลองชีวิตนักโทษในห้องขัง ซึ่งดูเหมือนคนจริงๆเลย หันไปเจอนี่หัวใจจะวาย

ตัวอย่างของใช้ของนักโทษ เราเคยอ่านเจอชีวิตนักโทษที่นี่ลำบากมาก โดนทรมานสารพัด ต้องถูกใช้แรงงานทาส แล้วอากาศก็หนาวติดลบ ทรมานแสนสาหัส โดยเฉพาะนักโทษหญิง บางคนต้องคลอดลูกในคุก แล้วยิ่งช่วงนั้นมีโรคเรื้อนระบาด ยิ่งทำให้หดหู่ไปกันใหญ่

เดินต่อมาอีกอาคารจะเป็นห้องคุมขังนักโทษ ภายในบางห้องจะจัดนิทรรศการบรรยายเรื่องราวที่เกี่ยวกับนักโทษ

แหงนหน้ามองตรงเพดาน มีผู้คุมเข้าเวรคอยจ้องมองนักโทษอยู่ตลอดเวลา

เดินมาด้านนอกจะมีลานให้นักโทษออกกำลังกาย ซึ่งเป็นช่องแคบมากได้แค่คนเดินสวนกัน และกำแพงหลังมีประตูช่องเล็กๆเอาไว้ขนศพนักโทษที่เสียชีวิตนั่นเอง

ปิดท้ายบรรยากาศรอบๆทั้งสวยทั้งวังเวง มุมมหาชนคือธงชาติเกาหลีผืนยักษ์ ที่ใครมาถึงก็ต้องแวะแชะภาพเป็นที่ระลึก

และนี่เป็นอีกสถานที่เที่ยวเกาหลีอีกรูปแบบที่อยากให้ได้ลองไปสัมผัส เพราะจะได้เห็นอีกมุมของเกาหลีในมิติที่ไม่เคยรู้จัก ได้เห็นบาดแผลและคราบน้ำตาของประวัติศาสตร์ ที่จะให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และระลึกถึงความทรงจำนี้ตลอดไป

แคสเปอร์สกี้ แลป พบช่องโหว่ของตัวชาร์จรถไฟฟ้า สร้างความเสียหายต่อเน็ตเวิร์กบ้านได้

โดยปกติแล้วจะมีการทดสอบช่องโหว่ต่างๆ ของยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่อุปกรณ์เสริมที่จำเป็นกลับถูกละเลยอยู่บ่อยครั้ง เช่น ตัวชาร์จแบตเตอรี่ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ แลป พบว่า ตัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าของเวนเดอร์รายใหญ่รายหนึ่งมีช่องโหว่ที่จะทำให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ และการโจมตีที่ประสบความสำเร็จอาจหมายถึงความเสียหายของระบบไฟฟ้าของทั้งบ้าน

 

ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบันเนื่องจากจะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ในบางภูมิภาคจะพบเห็นจุดบริการชาร์จไฟทั้งของสาธารณะและเอกชนอยู่ทั่วไป ความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ แลป ตรวจสอบตัวชาร์จสำหรับใช้ภายในบ้านรวมถึงฟีเจอร์การเข้าถึงระยะไกล (remote access) ผู้เชี่ยวชาญพบว่า ตัวชาร์จที่เชื่อมต่อหากถูกรุกล้ำก็สามารถทำให้ไฟฟ้าทำงานเกินกำลัง ทำให้ระบบที่เชื่อมต่ออยู่ล่ม และอาจทำให้ดีไวซ์อื่นๆ ในระบบเสียหายได้

 

นักวิจัยตรวจพบช่องทางในการใช้คำสั่งบนตัวชาร์จทั้งคำสั่งหยุดขั้นตอนการชาร์จและการตั้งค่ากระแสไฟสูงสุด การหยุดชาร์จนั้นจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้เจ้าของใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของตนได้ ส่วนการตั้งค่ากระแสไฟนั้นอาจทำให้มีความร้อนสูงเกิน อุปกรณ์ที่ไม่มีฟิวส์ป้องกันจะเสียหายได้ หาผู้โจมตีต้องการเปลี่ยนค่ากระแสไฟฟ้า ก็จะเข้าเน็ตเวิร์กผ่านวายฟายที่ตัวชาร์จเชื่อมต่ออยู่ และเมื่อดีไวซ์ต่างๆ นั้นเป็นดีไวซ์ที่ใช้งานภายในบ้าน การรักษาความปลอดภัยสำหรับเน็ตเวิร์กไร้สายจึงมีข้อจำกัด ทำให้ผู้โจมตีเข้าควบคุมได้ง่าย เช่นการใช้วิธีเดาสุ่มพาสเวิร์ดซึ่งเป็นวิธีทั่วๆ ไป จากสถิติของแคสเปอร์สกี้ แลป พบว่า การโจมตี IoT ในปี 2018 จำนวน 94% มาจากการสุ่มพาสเวิร์ดแบบ Telnet และ SSH เมื่อผู้โจมตีเข้าถึงเน็ตเวิร์กไร้สายได้แล้ว ก็จะสามารถหาไอพีแอดเดรสของตัวชาร์จได้ง่าย ขั้นต่อไปคือการเริ่มหาประโยชน์จากช่องโหว่และการขัดขวางการทำงานต่างๆ

 

นักวิจัยได้แจ้งเรื่องช่องโหว่ที่ตรวจพบทั้งหมดไปยังผู้ประกอบการและได้รับการแพทช์แก้ไขเรียบร้อยแล้ว

นายดิมิทรี สกลียาร์ นักวิจัยด้านความปลอดภัยของแคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า “คนทั่วไปมักลืมว่าในการโจมตีแบบมีเป้าหมายนั้น โจรไซเบอร์จะมองหาส่วนประกอบเล็กๆ ที่ไม่สะดุดตาเพื่อใช้เป็นช่องทางบุกรุก ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมองหาช่องโหว่ทั้งในนวัตกรรมและในอุปกรณ์เสริมต่างๆ ด้วย ผู้ประกอบการเองก็ควรระมัดระวังเรื่องดีไวซ์ยานยนต์ และจัดตั้งโครงการล่าบั๊ก หรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ในกรณีนี้ เราโชคดีที่แจ้งช่องโหว่ไปยังผู้ประกอบการแล้วได้รับการตอบรับเชิงบวกและรีบแก้ไขอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้”

 

แคสเปอร์สกี้ แลป ขอแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยดังนี้:

 

  • อัพเดทสมาร์ทดีไวซ์ทั้งหมดเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอย่างสม่ำเสมอ ในอัพเดทนั้นอาจจะมีแพทช์สำหรับช่องโหว่ร้ายแรง ซึ่งถ้าละเลยไม่แพทช์ ก็อาจช่วยให้โจรไซเบอร์เข้าถึงระบบในบ้านและชีวิตส่วนตัวได้
  • อย่าใช้พาสเวิร์ดที่ตั้งมาเบื้องต้นสำหรับเราเตอร์วายฟายและดีไวซ์อื่นๆ ควรเปลี่ยนเป็นพาสเวิร์ดที่แข็งแกร่ง และไม่ใช้พาสเวิร์ดซ้ำกันในดีไวซ์อื่นๆ
  • แนะนำให้แยกเน็ตเวิร์กสมาร์ทโฮมออกจากเน็ตเวิร์กที่ใช้กับดีไวซ์ส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว เพื่อเป็นการป้องกันการติดมัลแวร์จากฟิชชิ่งอีเมล

 

ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่

http://securelist.com/remotely-controlled-ev-home-chargers-the-threats-and-vulnerabilities/89251/

ข้อมูลสถิติของแคสเปอร์สกี้ แลป เรื่อง IoT

https://securelist.com/new-trends-in-the-world-of-iot-threats/87991/

แอสทราลพูล ประกาศขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตลาดสระว่ายน้ำ

บริษัท แอสทราลพูล ประเทศไทย หนึ่งในเครือบริษัทฟลุยดรา ผู้นำทางด้านนวัตกรรมอุปกรณ์สระว่ายน้ำระดับโลกจากประเทศสเปน ประกาศขึ้นแท่นผู้นำในอุตสาหกรรมสระว่ายน้ำ หลังจากควบรวมกิจการกับโซดิแอค ทำให้มีไลน์สินค้าและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในทุกประเภทรวม 75,000 รายการ มีวิศวกรและผู้เชียวชาญกว่า 5,500 คนที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 49 ปี มีสำนักงานทั่วโลกรวมกันกว่า 46 ประเทศทั่วโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บาร์เซโลน่า

มูลค่าตลาดของธุรกิจสระว่ายน้ำทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 7.1 พันล้านยูโร (2.8 แสนล้านบาทไทย) โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปรวมกันมีสัดส่วนสูงถึง 79% และบริษัทฟลุยดรามีส่วนแบ่งทางการตลาด 18% หากแบ่งตามประเภทของสระว่ายน้ำทั่วโลก สัดส่วนของสระว่ายน้ำตามบ้าน (residential pool) จะอยู่ที่ 76% ในขณะที่สระว่ายน้ำเชิงพาณิชย์จะอยู่ที่ 24% แต่สำหรับแถบเอเชียจะตรงกันข้าม สระว่ายน้ำเชิงพาณิชย์จะมีสัดส่วนที่สูงกว่า ในขณะที่ประเทศไทยสัดส่วนจะประมาณครึ่งต่อครึ่งระหว่างสระส่วนตัวกับสระเชิงพาณิชย์

สำหรับการคาดการณ์การเติบโตของตลาดนี้ทั่วโลกโดยเฉลี่ย (ระหว่างปี 2014-2017) อยู่ที่ 4-6% แต่ตลาดในเอเชียจะเติบโตเป็นเลขสองหลัก เนื่องจากตลาดนี้การเติบโตจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็น

  • การสร้างสระใหม่ 1-1.5%
  • การซ่อมสระเก่า 5-2%
  • สระที่มีฟีจเจอร์และนวัตกรรมใหม่ๆ 5-2.5%

บริษัทฟลุยดรามีวิศวกร R&D  มากกว่า 200 คน มีนวัตกรรมสิทธิบัตรมากกว่า 1,100 สิทธิบัตร  รายการสินค้าทั้งหมดมากกว่า 75,000 รายการ ครอบคลุมทุกองค์ประกอบของสระว่ายน้ำ และมีนโยบายการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรมที่ลดการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ Green Energy

ลูกค้าในประเทศไทย อาทิ โรงแรม Angsana Lagula ภูเก็ต  สวนน้ำ Cartoon Network พัทยา (ระบบหมุนเวียนน้ำ)   Virgin Active Fitness Center (เอ็มควอเทียร์)  สวนน้ำ Santorini Park หัวหิน  โรงแรม Banyan Tree ภูเก็ต Movenpick พัทยา  โรงแรม Veeranda Resort หัวหิน ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยมีดีลเลอร์ 2-3 รายในแต่ละภูมิภาค ซึ่งดีลเลอร์จะดูแลลูกค้าสำหรับบริการหลังการขายเช่นกัน ส่วนในปีหน้าการทำการตลาดจะเน้นไปในการสร้างแบรนด์ เช่น การจัดทำ Display Kiosk ให้กับดีลเลอร์ การออกงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิก การทำ Product Training การทำการตลาดโซเชียลมีเดีย (SEO, YouTuber, Tutorial VDO, Line, FB) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้แก่ โรงแรมและรีสอร์ท สปอร์ตเซ็นเตอร์และฟิตเนสเซ็นเตอร์ สระว่ายน้ำสำหรับการแข่งขัน  กลุ่มบริษัทก่อสร้าง และผู้รับเหมาวางระบบไฟฟ้า ประปา เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ เทิร์นคีย์ ได้แก่โรงแรม Imperial Boat House สมุย  Virgin Active  Whizdom 101 ฯลฯ โดยจะเน้นโปรเจกต์ขนาดใหญ่  ตั้งเป้าปีหน้าโตสองหลัก เพราะเชื่อมั่นในทีมงาน สินค้า และตลาดประเทศไทยมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์

 

แคสเปอร์สกี้ แลป คาดการณ์ภัยคุกคาม 2019: ผู้ร้ายไซเบอร์จะงัดอาวุธหนักพร้อมกลยุทธ์ใหม่ หวังโจมตีทำลายล้าง

จากรายงาน “Targeted Threat Predictions for 2019” ของแคสเปอร์สกี้ แลป ระบุว่า ในปี 2019 นี้ เราจะได้เห็นวงการ APT แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ร้ายหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์แต่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเล่นเกมร้ายไซเบอร์ และกลุ่มผู้ร้ายเก่าหน้าเดิมที่มีทักษะขั้นสูงและมีแหล่งทรัพยากรแข็งแกร่ง โดยกลุ่มผู้ร้ายเดิมนี้จะปฎิบัติการท้าทายองค์กรธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยมีประสบการณ์สูงและมีเทคนิคใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ยากในการค้นหาและกำจัดยิ่งขึ้นไปอีก

 

รายงานคาดการณ์ประจำปีฉบับนี้ ทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโลกของแคสเปอร์สกี้ แลป (Global Research and Analysis Team หรือ ทีม GReAT) เป็นผู้คาดการณ์ภัยคุกคามแบบระบุเป้าโจมตี โดยวิเคราะห์จากข้อมูลความรู้ความเชี่ยวชาญที่สะสมจากปีที่ผ่านมา รายงานนี้จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจและเตรียมรับมือความท้าทายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่อาจจะประสบพบเจอได้ในปีหน้า

คาดว่าจะไม่มีเหตุการณ์โจมตี APT ครั้งใหญ่

คาดการณ์ว่า ปีหน้าวงการความปลอดภัยไซเบอร์จะได้เห็นปฎิบัติการซับซ้อนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้โจมตีสร้างภัยคุกคามก็จะหลบซ่อนไม่ทำตัวโดดเด่น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับและถูกเปิดโปงต่อสาธารณะ และด้วยทรัพยากรที่มี ก็ยังสามารถขยายเครื่องมือเครื่องไม้และการดำเนินการต่างๆ ได้ ทำให้การตรวจจับภัยคุกคามนั้นยากขึ้นมาก

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ การใช้ทูลที่เจาะจงตรงไปยังแกนหลักของเหยื่อเป้าหมายที่เลือกไว้โดยเฉพาะ นั่นคือการแทรกแซงฮาร์ดแวร์ของเครือข่าย กลยุทธ์ใหม่นี้จะทำให้ผู้โจมตีสามารถแทรกแซงในลักษณะบ็อตเน็ตได้ หรืออาจจะแอบโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่เลือกไว้ก็ได้

 

การคาดการณ์ที่สำคัญอื่นๆ ในปี 2019 มีดังนี้

  • การโจมตีซัพพลายเชนยังมีอยู่ – การโจมตีซัพพลายเชนเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ร้ายไซเบอร์ได้ดำเนินการสำเร็จอย่างดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายองค์กรเริ่มทบทวนจำนวนโพรไวเดอร์ที่ต้องทำงานร่วมกันและเริ่มพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของโพรไวเดอร์ ในปีหน้า จะพบเหตุการณ์การโจมตีที่มีประสิทธิภาพ
  • ยังมีโมบายมัลแวร์แน่นอน – ผู้ร้ายไซเบอร์จำนวนมากมีโมบายคอมโพเน้นต์รวมอยู่ในแคมเปญของตัวเอง เพื่อใช้เพิ่มจำนวนเหยื่อที่เป็นไปได้ คาดว่าจะไม่พบการแพร่กระจายโมบายมัลแวร์แบบเจาะจงเป้าหมายครั้งใหญ่ แต่จะได้เห็นกิจกรรมการโจมตีและวิธีการโจมตีขั้นสูงแนวใหม่ๆ เพื่อเข้าแอคเซสดีไวซ์ของเหยื่ออย่างแน่นอน
  • ไอโอทีบ็อตเน็ตจะโตต่อเนื่องไม่หยุด – ผู้เชี่ยวชาญในวงการได้ออกมาเตือนภัยบ็อตเน็ตของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ซ้ำๆ ทุกปีเพื่อความไม่ประมาท และในปีหน้านี้บ็อตเน็ตประเภทนี้ก็จะเพิ่มจำนวนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อถูกใช้งานโดยผู้ไม่หวังดีอย่างผู้ร้ายไซเบอร์
  • การโจมตีสเปียร์ฟิชชิ่งจะสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ – ข้อมูลที่ได้จากการโจมตีโซเชียลมีเดียรายใหญ่อย่างเช่น Facebook, Instagram, LinkedIn และ Twitter ตอนนี้มีวางขายในตลาดมืดแล้ว ทั้งนี้ เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลขนาดใหญ่ล่าสุดจากแต่ละแพลตฟอร์มอาจช่วยให้ผู้โจมตีได้พัฒนาปรับปรุงการแพร่กระจายได้ด้วย
  • ผู้ร้าย APT หน้าใหม่จะขอมีบทบาท – คาดว่าผู้โจมตีขั้นสูงจะเก็บเนื้อเก็บตัวหายไปจากเรดาร์ และจะมีผู้ร้ายหน้าใหม่ปรากฎตัวขึ้น ด้วยทูลที่มีประสิทธิภาพสูงนับร้อยๆ ทูล เอ็กซ์พลอต์ที่มีจุดอ่อน และเฟรมเวิร์กต่างๆ ที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้ใช้งาน ทำให้ปราการป้องกันด้านความปลอดภัยไซเบอร์นั้นเปราะบางลงได้อีก คาดว่าภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการโจมตีอย่างแพร่หลายนี้คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง
  • การโต้ตอบของสาธารณชนจะเปลี่ยนรูปแบบวงการความปลอดภัยไซเบอร์ – การสืบสวนเหตุการณ์โจมตีชื่อดังอย่างการโจมตีบริษัทโซนี่และคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต สหรัฐอเมริกา ได้ยกระดับความยุติธรรมและการเปิดเผยต่อสาธารณะเรื่องการคุกคามไซเบอร์ไปอีกขั้น การเปิดโปงและความโกรธขึ้งของสาธารณชน จะก่อให้เกิดกระแสความคิดเห็นไปจนถึงการตอบโต้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์จริงจังอย่างมีชั้นเชิงทั่วโลก

นายวิเซนเต้ ดิแอซ นักวิจัยด้านความปลอดภัยของแคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า “การโจมตีในปี 2018 ทำให้เกิดกระบวนทัศน์รูปแบบใหม่ คือสาธารณชนตระหนักรู้เรื่องภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น การสืบสวนของผู้เชี่ยวชาญยังได้ชี้จุดสำคัญของปฎิบัติการโจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่ๆ และเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโลกไซเบอร์ได้ เนื่องจากผู้ร้ายขั้นสูงที่มีความซับซ้อนจะเปลี่ยนเป็นหลบซ่อนตัวเงียบๆ เพื่อให้การโจมตีครั้งต่อไปประสบความสำเร็จมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การตรวจสอบค้นหาปฎิบัติการร้ายเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงวิธีการตรวจจับผู้ร้ายไซเบอร์ไปอีกขั้นอย่างแน่นอน”

 

รายงานการคาดการณ์นี้พัฒนาขึ้นจากข้อมูล Threat Intelligence Services ของแคสเปอร์สกี้ แลป จากทั่วโลก โดยล่าสุด แคสเปอร์สกี้ แลป ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการที่มีความแข็งแกร่ง หรือ “Strong Performer” ด้าน Threat Intelligence จากสถาบันวิจัยฟอร์เรสเตอร์

 

ท่านสามารถอ่านรายงาน Kaspersky Lab Threat Predictions for 2019 ฉบับเต็มได้ที่

https://securelist.com/kaspersky-security-bulletin-threat-predictions-for-2019/88878/

‘เควิน มิสเตอร์ซูปร้าฯ ไทยแลนด์’ สร้างชื่อคว้ารางวัลจากเวทีสุดยอดนายแบบระดับโลก

นายอภิสิทธินันท์ ดาโสม หรือเควิน หนุ่มลูกครึ่งไทย-ไอริช นายแบบและนักกีฬาบาสเก็ตบอลอาชีพ เจ้าของตำแหน่งมิสเตอร์ซูปร้าเนชันแนลไทยแลนด์ 2018 สร้างประวัติศาสตร์เป็นตัวแทนประเทศไทยคนแรกที่สามารถผ่านเข้ารอบในการประกวดรอบตัดสิน Mister Supranational 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาพร้อมคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 กลับมาฝากคนไทยได้สำเร็จ

เวทีประกวด Mister Supranational ถือเป็นเวทีประกวดสุดยอดนายแบบระดับโลกที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเวทีระดับแกรนด์สแลมที่จัดต่อเนื่องทุกปีควบคู่กับการประกวด Miss Supranational เวทีนางงามระดับโลก โดยในปีนี้การประกวดรอบตัดสิน Mister Supranatioanl 2018 มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศเข้าร่วมประกวดและในรอบตัดสินหนุ่มๆ ผู้เข้าประกวดต้องแสดงความสามารถทั้งด้านการเต้น เดินแบบและการตอบคำถาม ซึ่งเควินตัวแทนของไทยในปีนี้ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในแต่ละโชว์จนสามารถผ่านเข้ารอบลึกถึงรอบ 10 คนสุดท้าย ก่อนใช้เสน่ห์และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษตอบคำถามในรอบ 10 คนสุดท้ายเอาชนะใจกรรมการได้สำเร็จ

 

ผลการตัดสินผู้ชนะเจ้าของตำแหน่ง Mister Supranational 2018 ได้แก่ตัวแทนจากประเทศอินเดีย Mr. Prathamesh Maulingkar รองอันดับ 1 ได้แก่ตัวแทนจากประเทศโปแลนด์ Mr. Jakub Kucner ประเทศเจ้าภาพ รองอันดับ 2 ได้แก่ตัวแทนจากประเทศบราซิล Mr. Samuel Costa รองอันดับ 3 ได้แก่ตัวแทนจากประเทศไทยนายอภิสิทธินันท์​ ดาโสม และรองอันดับ 4 ได้แก่ตัวแทนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ Mr. Ennio Fafieanie

แคสเปอร์สกี้ แลป แต่งตั้ง ‘วีเอสที อีซีเอส’ เสริมทัพตัวแทนจัดจำหน่ายในไทยเพิ่ม ตั้งเป้าขยายตลาด B2B

แคสเปอร์สกี้ แลป ต่อยอดสร้างการเติบโตไปอีกขึ้นด้วยการประกาศการแต่งตั้งความร่วมมือกับบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตด้านธุรกิจของแคสเปอร์สกี้ แลป ในประเทศไทย โดยเฉพาะโซลูชั่นด้านดิจิทัล โซลูชั่นสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และเอ็นเทอร์ไพรซ์ การแต่งตั้งบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายนี้จะทำให้แคสเปอร์สกี้ แลป เข้าถึงฐานผู้ค้าปลีกและผู้รับเหมาดูแลระบบ หรือ system integrator ได้มากขึ้น

นายโยว เซียง เทียง ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจชั้นนำในการจัดจำหน่ายโซลูชั่นในประเทศไทยทั้ง B2C และ B2B ถึงสองรายด้วยกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแต่งตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายเพิ่มเติมจะช่วยให้ทั้งแคสเปอร์สกี้ แลป และตัวแทนจัดจำหน่ายสามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น และสามารถให้บริการลูกค้าไทยได้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น”

 

ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ถูกโจมตีผ่านเว็บเป็นอันดับที่ 70 ของโลก ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้ใช้งานคนไทยนั้นตระหนักถึงภัยคุกคามไซเบอร์มากขึ้น อันดับของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็แตกต่างกันไป อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 27 เวียดนามอยู่อันดับที่ 25 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 22 ประเทศที่ถูกโจมตีผ่านเว็บมากที่สุดคือฟิลิปปินส์อันดับที่ 9 ส่วนประเทศที่ถูกโจมตีน้อยที่สุดคือสิงคโปร์อันดับที่ 129

 

“อันดับของประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ดีเพราะผู้ใช้งานคนไทยมีความตระหนักถึงความอันตรายของภัยไซเบอร์มากขึ้น เหตุการณ์โจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่หลายเหตุการณ์ส่งผลให้ธุรกิจสะดุดและกระทบผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก ผู้ใช้คนไทยได้เรียนรู้และเริ่มป้องกันตัวเองจากเหตุร้ายต่างๆ นี้” นายโยวกล่าวเสริม

 

นายสมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายของแคสเปอร์สกี้ แลป ด้วยแคสเปอร์สกี้ แลป ให้บริการโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยไซเบอร์แบบครบวงจร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ดีในยุคดิจิทัลนี้ เมื่อรวมเข้ากับเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งและการเน้นบริการลูกค้าเป็นสำคัญของเรา เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มลูกค้าได้อีกมาก”

 

บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัท วีเอสที อีซีเอส เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าและโซลูชั่นด้านไอทีชั้นนำ มีประสบการณ์ยาวนานมากกว่า 20 ปี ในการให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชั่น บริการก่อนและหลังการขาย รวมถึงการสนับสนุนด้านการซ่อมบำรุง บริษัทมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างดีจากการได้รับรางวัลมากมาย ข้อตกลงความร่วมมือกันของทั้งสองบริษัทนี้ มุ่งให้เวนเดอร์สามารถจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของตลาด B2B ซึ่งรวมถึงโซลูชั่น Kaspersky Endpoint Security for Business, Kaspersky Threat Management & Defence และอื่นๆ อีกจำนวนมาก

แคสเปอร์สกี้ แลป เป็นบริษัทระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีลูกค้าองค์กรมากกว่า 270,000 ราย และผู้ใช้งานทั่วไปมากกว่า 400 ล้านรายทั่วโลก การแต่งตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นครั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะผู้นำในประเทศไทย